กินเผ็ดมาก ส่งผลเสีย-ผลดีอย่างไรกับร่างกาย?!

Songkhao กินเผ็ดมาก

การกินเผ็ดมากเป็นรสนิยมการรับประทานอาหารที่แพร่หลายในทุกช่วงวัยและพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศไทย แถบภาคอิสาน ซึ่งนอกจากความเผ็ดจะช่วยเพิ่มความอร่อย แซ่บซีดและความกลมกล่อมให้กับอาหารไทยแล้วนั้น อาหารที่เผ็ดยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งในเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ทำให้หลายท่านติดใจเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม หลายๆท่านอาจเคยได้ยินมาว่าการกินอาหารรสจัด อย่างอาหารที่เผ็ดนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ในขณะที่หลาย ๆ ท่านกลับเชื่อว่าอาหารเผ็ดนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพและระบบเผาผลาญ มาดูกันค่ะว่า ความเชื่อต่าง ๆนั้น เกี่ยวกับการกินรสเผ็ดจะเป็นจริงเท็จมากน้อยประการใด และควรกินอาหารเผ็ดอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

Songkhao กินเผ็ดมาก

กินเผ็ดมาก เป็นอย่างไร ?

หลายท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่าความเผ็ดเป็นรสชาติเช่นเดียวกับรสชาติหวาน รสชาติเปรี้ยว รสชาติขม หรือรสชาติเค็ม แต่แท้จริงแล้วนั้น ความเผ็ดเป็นเพียงอาการแสบร้อนของลิ้นที่เกิดจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในพริก นั้นเอง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเทศอีกหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้เพิ่มความเผ็ดร้อนในการประกอบอาหารด้วย เช่น กระเทียม ขิง ยี่หร่า อบเชย และกะเพรา เป็นต้น โดยเครื่องเทศเหล่านี้มักถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารหรือใช้ปรุงรสชาติอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งแบบดิบ แบบสุก แบบบด และแบบแห้งเลยค่ะ

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการกินรสเผ็ด

แม้ว่าความเผ็ดนั้นจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน การกินรสเผ็ดก็อาจมีโทษบางประการต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

ในช่องปาก หลายท่านอาจรู้สึกแสบร้อนภายในปากหลังจากกินอาหารเผ็ด โดยอาการแสบร้อนนั้นถือเป็นกลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก ซึ่งอาจส่งผลต่อลิ้น เหงือก ริมฝีปาก แก้ม เพดานปาก และบริเวณอื่น ๆ ภายในช่องปากนั้นเอง รวมทั้งอาจทำให้ปากแห้ง รู้สึกหิวน้ำบ่อยๆ อาจสูญเสียการรับรสชชาติ หรือทำให้ลิ้นรับรสชาติผิดเพี้ยนไปได้อีกด้วย

ระบบทางเดินอาหาร สารแคปไซซินในพริกอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียนค่ะ ซึ่งในกรณีที่เกิดการอาเจียนนั้น กรดที่ไหลย้อนกลับมาจากกระเพาะอาหารอาจจะทำให้หลอดอาหารระคายเคืองได้ นอกจากนี้แล้ว การกินรสเผ็ดก็อาจส่งผลให้อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเผ็ด เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยไม่ให้โรคแผลในกระเพาะอาหารมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นค่ะ

ระบบทางเดินหายใจ การกินรสเผ็ดอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูกจากอาหารได้ ซึ่งเป็นโรคจมูกอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ แต่มีสาเหตุมาจากอาหารที่กินเข้าไปค่ะ โดยอาจทำให้มีอาการน้ำมูกไหลหรือมีเสมหะในคอหลังจากกินอาหารรสเผ็ด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าสารแคปไซซินอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้มีอาการดีขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของสารแคปไซซินที่มีต่อโรคนี้อย่างชัดเจนต่อไปค่ะ

ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ การกินรสเผ็ดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอก นอกจากนี้ การกินรสเผ็ดอาจส่งผลให้อาการของโรคบางชนิดอย่างโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากอาหารเผ็ดอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะด้วย อย่างไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการของโรคดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสม

ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินรสเผ็ด

แม้การกินรสเผ็ดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง แต่ก็ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของการกินรสเผ็ดว่าอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนี้

1.ช่วยให้อายุยืน จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่าการกินรสเผ็ดอย่างน้อยเพียงวันละครั้ง 6-7 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้อัตราการเสียชีวิตลดลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทั้งวิธีการเก็บข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และไม่มีข้อมูลของตัวแปรอื่น ๆ อย่างปริมาณและชนิดของอาหารที่กินของผู้รับการทดลองแต่ละท่าน ซึ่งอาจมีผลต่องานวิจัยชิ้นนี้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่แน่ชัดเพิ่มเติม

2.ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า พริกและเครื่องเทศบางชนิด อย่างยี่หร่า อบเชย ขมิ้น พริก และพริกไทย ต่างก็มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย และยังช่วยให้รู้สึกหิวช้าลงด้วย ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นการทดลองในสัตว์ และยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองในมนุษย์ เพื่อหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนต่อไป

3.ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย จากงานค้นคว้าบางส่วน พบว่าเครื่องเทศบางชนิดอย่างยี่หร่าและขมิ้นอาจมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและจุลินทรีย์ และอาจมีส่วนช่วยในการยับยั้งแบคทีเรียในร่างกายได้เช่นกัน

Songkhao กินเผ็ดมาก

4.ป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วย พริกอาจช่วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ เนื่องจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า พริกอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีได้ นอกจากนี้ พริกยังอาจมีส่วนช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิต มีสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งสารแคปไซซินในพริกอาจมีฤทธิ์ช่วยในการรักษามะเร็งบางชนิดได้ แต่ผลการวิจัยเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานทางการค้นคว้าเพื่อยืนยันประสิทธิภาพดังกล่าวให้ชัดเจน

5.บรรเทาอาการไข้หวัดและการหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น

6.ลดการอุดตันของหลอดเลือด/โรคหัวใจ สารแคปไซซินในพริกช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

7.ช่วยให้เจริญอาหาร / ย่อยอาหาร กระตุ้นให้น้ำลายในปากออกมามาก และช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยดีขึ้น

8.เพิ่มภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินต่าง ๆ ที่มีคุณประโยชน์ทั้งในการป้องกันโรค

9.ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง วิตามินซีในพริกมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

10.พริกช่วยป้องกันหัวใจ ด้วยวิตามินสำคัญ คือ วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็กมีมากในพริกสดและพริกแห้ง ถ้าห่วงเรื่องการเผ็ดมากให้ไปรับประทานพริกไทยหรือพริกหวานที่ใส่ในสลัดก็ยังได้

11.ช่วยขยายหลอดลม มีสารเคมีที่ช่วยขับเสมหะและเปิดคอให้โล่งขึ้น ในท่านที่เป็นภูมิแพ้ การกินรสเผ็ดจะช่วยได้ดีมาก หากเป็นเด็กอาจเพียงแค่พริกไทยหรือใช้หัวหอมที่เผ็ดน้อยพอ และสำหรับเด็กน้อยกับผู้สูงวัยขอให้ระวังอย่าให้สำลักพริกด้วย

12.พริกเผ็ดยังช่วยคลายเครียด พริกเป็นอาหารร่าเริงที่แท้จริงเพราะสร้าง ?เอ็นโดรฟิน? เป็นสารเคมีสร้างสุขที่ทำให้สดชื่นมีชีวิตชีวาหลั่งออกมาภายหลังจากกินรสเผ็ดไปไม่นาน ลองสังเกตอาการหลังทานส้มตำพริกสิบเม็ดได้ว่าเหงื่อออกแล้วสบายตัวสดชื่นดี

นอกจากพริกแล้ว ยังมีเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ที่ให้ความเผ็ดและมีคุณสมบัติต้านการอักเสบด้วย อย่างขิงและกระเทียมก็ถูกนำมาใช้เป็นการรักษาทางเลือกของโรคหรือการเจ็บป่วยบางชนิดด้วย เช่น โรคข้ออักเสบ โรคภูมิต้านทานต้านตัวเอง อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ เป็นต้น ส่วนเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ที่ให้ความเผ็ดก็ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งมีส่วนช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดในผู้ที่บริโภควิตามินซีเป็นประจำได้ด้วย

“กินรสเผ็ด” บ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

โรคท้องเสีย

ในพริกมีสารแคปไซซิน ทำให้เรารู้สึกร้อน จนเราดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายจะพยายามขับเอาสารแคปไซซินออกจากร่างกาย กระเพาะอาหารและลำไส้จึงบีบตัวมากขึ้น เร็วขึ้น ลำไส้ใช้เวลาในการดูดซึมสารอาหารน้อยลง เพราะต้องการขับสารแคปไซซินออกให้เร็วที่สุด จึงทำให้เรามีมักอาการถ่ายท้อง ท้องเสียในช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากที่เรากินอาหารเผ็ด

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

ข้อมูลจากโรงพยาบาล ระบุไว้ว่า นอกจากการติดเชื้อเอชไพโลไร จากการปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารหรือน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วนั้น ที่อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังได้แล้ว กินอาหารรสเผ็ดจัดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เยื่อเมือกบุในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ บวม แดงได้เช่นกัน นอกจากนี้การกินอาหารรสจัดหรือเผ็ด ยิ่งสร้างกรดที่กัดเยื่อบุกระเพาะ ทำให้ปวดแสบท้องทันทีที่ทานอาหารเผ็ดอีกด้วย

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัดเป็นประจำ อาจทำร้ายเยื่อบุลำไส้ อักเสบและเป็นแผล เกิดการอักเสบเรื้อรังนานเป็นปีๆเลยค่ะ ทำให้มีอาการท้องเสียและปวดท้องเป็นช่วงๆ ได้ แม้ว่าส่วนมากโรคลำไส้อักเสบฉับพลันจะเกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ติดเชื้อไวรัส และมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ร่วมกับปวดท้องรุนแรง แต่การกินรสเผ็ดจัดอาจเพิ่มอาการอักเสบให้กับเยื่อบุลำไส้เพิ่มมากขึ้นไปอีก และอาจเสี่ยงมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้นั่นเอง

โรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่ยังหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่นั้นเอง เกิดได้ทั้งจากมีกรดเกินในกระเพาะอาหารจนไหลย้อนขึ้นมา และหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายทำงานผิดปกติ ดังนั้นผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่ทำให้เกิดกรด ทั้งอาหารรสเผ็ด รสเปรี้ยว ไปจนถึงอาหารที่มีแก๊สมาก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดกรดและไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และหากมีอาการกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหูรูดหลอดอาหาร เพื่อป้องกันการพัฒนาของโรคไปเป็นมะเร็งหลอดอาหารในอนาคต

กินรสเผ็ดอย่างไรไม่ให้เป็นโรค

พยายามไม่กินรสเผ็ดจัดจนเกินไป และไม่กินอาหารเผ็ดทุกมื้อ ควรสลับเลือกอาหารรสชาติอื่นๆ บ้าง

หากรับประทานพริก หรือเครื่องปรุงอื่นๆ ที่มีรสเผ็ดแล้วรู้สึกทรมาน แสบปาก แสบท้อง ควรหยุดทานแล้วดื่มน้ำตามเพื่อลดอาการระคายเคืองจากพริกที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร และกระเพาะอาหารได้

หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องเสียท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ฯลฯ ไม่ควรกินรสเผ็ด เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

ผู้ป่วยที่มีไข้ เพิ่งผ่าตัด ควรงดการรับประทานอาหารเผ็ดชั่วคราวด้วย

กินรสเผ็ดอย่างไรให้ปลอดภัย ?

แม้ความเผ็ดอาจช่วยเพิ่มความอร่อยในอาหาร หรือคุณอาจเป็นท่านที่ชื่นชอบการกินเผ็ดมากเพียงใด แต่ผู้บริโภคทุกท่านก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของตนด้วย โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังการกินอาหารเผ็ดมากเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้อาหารเผ็ดจะไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้อง แต่การกินรสเผ็ดก็อาจเป็นสาเหตุของอาการแสบร้อนกลางอกได้ เนื่องจากอาหารเผ็ดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการกินเผ็ดมากจนเกินไป และหากมีอาการแสบร้อนกลางอกหรือรู้สึกจุกเสียดแน่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ดังนั้น ท่านที่ชื่นชอบอาหารเผ็ดร้อนควรกินรสเผ็ดในปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อร่างกาย ส่วนผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการกินรสเผ็ด และเรียนรู้วิธีเลือกกินอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของตนเองด้วยเช่นกัน

เมนูอาหาร กินเยอะ หุ่นดี ก็มีนะ

เที่ยวสุดชิค เนเธอร์แลนด์ แดนกังหันลม

สุขภาพดี ห่างไกล โรคหัวใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *