กัญชา กัญชง EP.1 ทำความรู้จักสายพันธุ์หลักของพืชชนิดนี้
กัญชา กัญชง เป็นพืชสกุล Cannabis อยู่ในตระกูล Cannabaceae มี 3 สายพันธุ์หลักๆที่แบ่งประเภทอย่างเด่นชัด ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) ส่วนคำว่ามาลีฮวนน่า (Marijuana) เป็นคำแสลงที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันนั้นคือการใช้ส่วนดอกของต้น กัญชา และ กัญชง นำมาสูบ
กัญชา กัญชง ซาติวา (Cannabis sativa)
เป็นภาษาละติน แปลว่า เพาะปลูก ตั้งโดย คาโรรัส ลินเนียส Carolus Linnæus หรือ Carl Linnaeus นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน โดยที่เขานั้นได้จัดตระกูลพืชสายพันธุ์นี้เอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1753 (พ.ศ. 2296) มีถิ่นกำเนิดบริเวณเส้นศูนย์สูตร เช่น โคลัมเบีย เม็กซิโก (โซนทวีปอเมริกา) ส่วนกลางของทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่นประเทศไทย โดยที่หลายคนอาจจะรู้จักกัญดีในชื่อสายพันธุ์ว่า หางกระรอก
สายพันธุ์ sativa จะมีลักษณะลำต้นหนา ความสูงเมื่อเติบโตเต็มที่ประมาณ 5 เมตร ใบทรงยาว เรียวเล็กกว่า และมีสีเขียวอ่อน (เมื่อเทียบกับ indica ) ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 10-16 สัปดาห์ มีนิสัยชอบแดดและ อากาศร้อน ซึ่ง sativa มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Psychoactive) สูงกว่า indica
กัญชา กัญชง อินดิกา (Cannabis indica)
ชายที่ค้นพบสายพันธุ์ชนิดนี้คือ ฌอง-แบ๊บติสท์ ลามาร์ค (Jean-Baptiste Lamarck) เป็นทหารนักชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส ผู้ตั้งชื่อและตีพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกัญชาสายพันธุ์นี้ในปี ค.ศ. 1785 (พ.ศ. 2328) กัญชาสายพันธุ์ indica ได้ชื่อตามแหล่งกำเนิดที่ค้นพบในอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง
indica มีลักษณะเด่นคือลำต้นพุ่มเตี้ย ความสูงเมื่อเติบโตเต็มที่ประมาณ 180 เซนติเมตร ใบหนากว้าง สั้น สีเขียวที่เข้มกว่า (เมื่อเทียบกับ sativa ) กิ่งก้านดกหนา ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 12-16 สัปดาห์ ชอบที่ร่มและอากาศเย็น indica มีสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับ ประสาท (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง
รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis)
ชายที่ค้นพบสายพันธุ์ชนิดนี้คือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชชาวรัสเชีย ดี.อี. จานิสเชสกี้ (D. E. Janischewsky) เมื่อปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) ซึ่งกัญชาสายพันธุ์รูเดอราลิสมีแหล่ง กำเนิดบริเวณตอนกลางและตะวันออกของทวีปยุโรป
รูเดอราลิส มีลำต้นเล็กที่สุดในบรรดา 3 สายพันธุ์ ลักษณะคล้ายวัชพืช ใบกว้างมี 3 แฉก เติบโตเร็ว อยู่ได้ทั้งอากาศร้อนและเย็น ปริมาณสาร THC น้อย (เมื่อเทียบกับสองสายพันธุ์แรก) แต่มี CBD สูง มักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ (hybrid) กับ sativa และอินดิกา เพื่อให้ได้ คุณสมบัติทางยา
ประโยชน์ของสาร THC และ CBD ในกัญชา
สาร CBD นั้นมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของส่วนต่างๆในร่างกาย ลดการชักเกร็ง ช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย และมีคุณสมบัติยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง
สาร THC นั้นมีผลต่อจิตใจ ระบบประสาท แต่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร
การจำแนกเฮมพ์กัญชง (Hemp) และกัญชา (Marijuana)
เฮมพ์ (Hemp) หรือ “กัญชง” เป็นพืชที่มีหน้าตา ส่วนประกอบใกล้เคียงกับกัญชามาก เนื่องจากอยู่ในตระกูลเดียวกัน ดังนั้นส่วนประกอบภายนอกหรือสัณฐานวิทยาของพืชทั้งสองชนิด จึงมีความแตกต่างกันน้อยมาก ๆ จนบางครั้งยากที่จะจำแนกชนิดด้วยตาเปล่าได้ และอาจทำให้เกิดความสับสนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นพืชทั้งสองชนิดมีจุดเด่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น เฮมพ์มีส่วนประกอบลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ใบมีสีเขียวอมเหลืองรูปเรียวยาว มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างชัดเจน ทรงพุ่มเรียวเล็ก มีการแตกแขนงของกิ่งก้านน้อย และไม่มียางเหนียวติดมือ เป็นต้น ในขณะที่กัญชามีส่วนประกอบลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีสีเขียวค่อนข้างเข้มขนาดกว้างกว่าเฮมพ์ การเรียงตัวของใบจะชิดกันกิ่งก้านถี่หรือเรียงเวียนใกล้กัน โดยเฉพาะใบเลี้ยงแซมช่อดอกจะเป็นกลุ่มแน่นเห็นได้อย่างชัดเจน มีการแตกกิ่งก้านมาก และมียางจากไตรโคมเหนียวติดมือ (สำนักงานอ.ย., 2561; สำนักงานป.ป.ส., 2562; Cannabis.info, 2562)
กัญชง มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับกัญชามาก เนื่องจากอยู่ในตระกูลเดียวกัน พืชทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ได้แก่ สารเทตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol; THC) ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้มีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน และมีฤทธิ์เสพติด และยังมีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol; CBD) ออกฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย (Anxiety effect) มีลักษณะโครงสร้างทางเคมีดังรูปที่ 2 ซึ่งในกัญชามีสาร THC ประมาณร้อยละ 5 ถึง 15 และมีปริมาณ THC สูงกว่า CBD ในขณะที่กัญชงมีปริมาณ THC เพียงประมาณร้อยละ 0 ถึง 1.0 และมีสัดส่วนระหว่าง CBD มากกว่า THC คิดเป็น 2:1 ดังนั้นถ้าต้นที่มีสาร THC น้อยกว่าร้อยละ 0.3 ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็น “กัญชง(Hemp)” แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็น “กัญชา (Marijuana)” (พิชิต แก้วงาม, 2562) สำหรับความแตกต่างระหว่างพืชทั้งสองนั้น มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก โดยสามารถสังเกตทางพฤกษศาสตร์ในเบื้องต้นได้ดังนี้
ราก ของกัญชงและกัญชาเป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) และมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก
ลำต้น ของกัญชงจะมีส่วนรูปร่างที่ค่อนข้างจะสูงเรียว มีเหลี่ยมบ้างเล็กน้อย โดยจะมีความกลมมนเฉพาะช่วงลำต้นเหนือจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงของต้นมากกว่า 2 เมตร ต่างจากกัญชาที่ลำต้นมีรูปร่างกลม และมีความสูงน้อยกว่า
ใบ ของกัญชงมีสีเขียวอมเหลืองขนาดเรียวยาว การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่างชัดเจน และไม่มียางเหนียวติดมือ ส่วนกัญชาใบจะมีสีเขียวเข้มขนาดกว้างหนา การเรียงตัวของใบจะชิดกัน และมักจะมียางเหนียวติดมือ
ปล้องหรือข้อ ของกัญชงจะยาว มีระยะห่างของใบบนลำต้นกว้าง ซึ่งทำให้ทรงของต้นกัญชงเป็นพุ่มโปร่ง ส่วนกัญชาปล้องหรือข้อจะสั้น ระยะห่างของใบบนลำต้นแคบทำให้ทรงของต้นเป็นพุ่มทึบ
เปลือกเส้นใย ของกัญชงจะมีเนื้อที่มีความละเอียด เหนียว ฉีกออกง่าย ลอกง่าย และให้เส้นใยประสิทธิสูง ส่วนกัญชาเปลือกเส้นใยจะหยาบ บาง ลอกยาก และให้เส้นใยประสิทธิต่ำ
เมล็ด ของกัญชงจะมีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดหยาบด้าน และมีลายบ้าง ส่วนเมล็ดกัญชาจะมีขนาดเล็ก ผิวมีลักษณะมันวาว
ช่อดอก ของกัญชงจะมียางกระเปาะไตรโคมไม่มาก และมีสาร THC ร้อยละ 0.3-7 แต่ในส่วนกัญชานั้นจะมียางกระเปาะไตรโคมที่ช่อดอกมาก และมีสาร THC สูงถึงร้อยละ 1-10 ซึ่งเมื่อนำมาจุดไฟจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้งมีฤทธิ์หลอนประสาท
เทคนิคการเลือก อาหารแมว ที่ดี ต้องดูที่ฉลาก!
สัตว์เลี้ยงตัวเล็ก ที่จะทำให้คุณไม่เหงา ในช่วง Work From Home